ประกวดอาคารปี 5

การประกวดอาคารประหยัดพลังงาน MEA Energy Saving Building แบ่งระดับในการพิจารณามอบตราสัญลักษณ์ให้อาคารที่เข้าร่วมโครงการระหว่าง 5 ปี (2555-2559) ออกเป็น 2 ระดับ คือ ในระดับที่ 1 ตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงาน” และ ในระดับที่ 2 ตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงานดีเด่น” ซึ่งมีเกณฑ์ในการพิจารณาแตกต่างกัน โดยเมื่ออาคารผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่ กฟน. กำหนด จะได้รับป้ายตราสัญลักษณ์และป้ายประสัมพันธ์ของโครงการ เพื่อนำไปติดตั้งประจำ ณ อาคารที่ส่งเข้าร่วมประกวด โดยมีรายละเอียดของตราสัญลักษณ์ฯ ดังนี้

ระดับที่ 1 ตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน”

เกณฑ์การพิจารณา ประกอบด้วย

• เงื่อนไขด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า

พิจารณาจากค่า MEA Index ไม่เกินค่าเกณฑ์ตามที่ กฟน. กำหนด โดยประเมินจากข้อมูลการใช้พลังงานของแต่ละอาคารตามประเภทอาคารและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อหากราฟการแจกแจงของอาคารประเภทนั้นๆ เทียบกับอาคารอื่นในกลุ่มเดียวกัน สามารถประเมินข้อมูลเบื้องต้น ได้ที่ http://www.meaenergysavingbuilding.net

• เงื่อนไขด้านคุณภาพการใช้พลังงาน

พิจารณาอาคารที่มีค่า MEA Index ผ่านเกณฑ์ตามที่ กฟน. กำหนด และต้องมีการใช้พลังงานที่มีคุณภาพที่ดีต่อผู้ใช้งานในอาคารนั้นด้วย ได้แก่ มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอาคารไม่เกินค่ามาตรฐาน มีค่าความส่องสว่างในแต่ละพื้นที่หรือกิจกรรมเพียงพอต่อการใช้งาน มีอุณหภูมิและความชื้นที่อยู่ในสภาวะสบาย โดยโครงการจะตรวจวัดค่าด้านคุณภาพการใช้พลังงาน ณ อาคารจริง เพื่อนำมาประกอบการตัดสิน มีค่ามาตรฐาน ประกอบด้วย
o ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอาคาร ไม่เกิน 1,000 ppm (อ้างอิง ASHRAE 62)
o อุณหภูมิและความชื้น สำหรับอาคารประเภทต่างๆ
o ค่าความส่องสว่าง (อ้างอิง สมาคมไฟฟ้าแสงสว่าง)

ระดับที่ 2 ตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงานดีเด่น”

เกณฑ์การพิจารณา ประกอบด้วย

1. เป็นอาคารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงาน” ระดับที่ 1 มาแล้วเท่านั้น
2. อาคารต้องดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดผลประหยัดชัดเจน สามารถตรวจวัดได้ภายในระยะเวลาที่โครงการกำหนด
3. ได้รับการเข้าเยี่ยมพบ ณ อาคารจริงเพื่อตรวจประเมินตัดสิน โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของโครงการ โดยพิจารณาจาก 4 ปัจจัยหลักประกอบกันดังนี้

- ผลการประหยัดพลังงาน 30%

- ความน่าสนใจของมาตรการที่ดำเนินการ 20%

- การมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์กร 25%

- ความตั้งใจของคณะทำงานและฝ่ายบริหาร 25%

 

ปฎิทินการประกวด ระยะเวลา
ประกาศรับสมัครอาคารเข้าร่วมประกวด 15 ก.ย. – 31 ต.ค. 59
จัดงานสัมมนาเปิดโครงการฯ ปีที่ 5 MEA Energy Saving Building  2017 20 ต.ค. 59
คณะทำงานตรวจสอบใบสมัคร/เข้าตรวจวัดและทวนสอบข้อมูลอาคาร ก.ย. – ธ.ค. 59
จัดงานสัมมนาให้ความรู้กับอาคารที่เข้าร่วมโครงการฯ ปีที่ 5  พ.ย. 59
จัดประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาตัดสินตราสัญลักษณ์ฯระดับที่ 1 ธ.ค. 59
จัดงานพิธีมอบตราสัญลักษณ์ฯ ระดับที่ 1 ก.พ. 60
เปิดรับข้อเสนอการตรวจวัดและพิสูจน์ผลฯ (M&V) สำหรับอาคารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ฯ ระดับที่ 1 และต้องการเข้าร่วมแข่งขันต่อ ในระดับที่ 2 ม.ค. – มี.ค. 60
เมื่อข้อเสนอฯ ได้รับอนุมัติแล้ว อาคารจึงเริ่มดำเนินการปรับปรุง ม.ค. – ต.ค. 60
คณะทำงานเข้าสังเกตุการณ์การตรวจวัดการใช้พลังงานก่อนและหลังปรับปรุง ณ อาคาร ก.พ. – ต.ค. 60
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าเยี่ยมพบประเมินอาคาร พ.ย. 60
 คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาตัดสินมอบตราสัญลักษณ์ฯระดับที่ 2 และเงินรางวัล ธ.ค. 60
 จัดงานพิธีประกาศรางวัลและมอบตราสัญลักษณ์ฯ ระดับที่ 2 ม.ค. 61
 หมายเหตุ : ระยะเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามที่โครงการกำหนด

          การประกวดอาคาร MEA Energy Saving Building จะดำเนินการรับสมัครอาคารกลุ่มเป้าหมายตามที่ กฟน. กำหนดในแต่ละปี โดยอาคารที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตามประเภทอาคารที่จัดประกวด  หลังจากนั้น ทางโครงการฯ จะกลั่นกรองข้อมูลตรวจสอบความถูกต้องของใบสมัครและแจ้งให้อาคารทราบเพื่อดำเนินนัดหมายต่อไป  
 
          ข้อมูลสำคัญ คือ การคำนวณค่า MEA Index ซึ่งจะนำข้อมูลจากใบสมัครมาคิดคำนวณ MEA Index ในเบื้องต้น และเข้าตรวจวัดค่าตามเกณฑ์คุณภาพการใช้พลังงานพร้อมทวนสอบข้อมูลระหว่างใบสมัครกับหน้างานจริง จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดและทวนสอบมาคำนวณ MEA Index อีกครั้ง เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้พิจารณาตัดสิน เมื่ออาคารได้รับการพิจารณาให้ผ่านเกณฑ์ MEA Index อาคารจะได้รับตรา
สัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน” ในระดับที่ 1 และมีสิทธิ์เข้าแข่งต่อในระดับที่ 2 ได้ ทางโครงการจะดำเนินการแข่งขันต่อเนื่องในระดับที่ 2 เพื่อขอรับตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน ดีเด่น” และลุ้นเป็นสุดยอดอาคารประหยัดพลังงานของการไฟฟ้านครหลวงในแต่ละประเภทรางวัล

         ทุกประเภทอาคารที่เข้าร่วมการแข่งขันในระดับที่ 2 ต้องระบุประเภทรางวัลที่ต้องการส่งอาคารเข้าร่วมแข่งขันให้ทางโครงการทราบ ซึ่งประกอบด้วย

          ประเภทรางวัล ตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงานดีเลิศ” อาคารที่สามารถเข้าร่วมได้ มี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มอาคารประเภท 1) โรงพยาบาล 2) โรงแรม 3) สำนักงาน 4) ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า

          สำหรับ ประเภทรางวัลส่งเสริม ตราสัญลักษณ์ “อาคารนวัตกรรมพลังงานดีเด่น” (BEST OF INNOVATION AWARD) และประเภทรางวัลส่งเสริม ตราสัญลักษณ์ “อาคารพัฒนาปรับปรุงด้านพลังงานดีเด่น” (BEST OF IMPROVEMENT AWARD) อาคารที่สามารถเข้าร่วมได้ มี 6 กลุ่ม คือ กลุ่มอาคารประเภท 1) โรงพยาบาล 2) โรงแรม 3) สำนักงาน 4) ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า 5) ไฮเปอร์มาร์เก็ต 6) มหาวิทยาลัย

         โดยอาคารที่มีความประสงค์เข้าร่วมการแข่งขันในระดับที่ 2 ต้องจัดทำข้อตกลงวิธีการตรวจวัดและพิสูจน์ผลการใช้พลังงาน (M&V) ส่งให้โครงการพิจารณาอนุมัติภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยโครงการฯ จะชี้แจงทำความเข้าใจถึงวิธีการตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัดที่ยอมรับได้และเป็นตามหลักวิศวกรรมกับทางอาคาร เมื่อวิธีการตรวจวัดและพิสูจน์ผลการใช้พลังงาน (M&V) ได้รับการอนุมัติแล้ว อาคารจึงสามารถเริ่มดำเนินการตามมาตรการที่เสนอมาได้ และต้องแจ้งให้ทางโครงการเข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจวัดการใช้พลังงาน ทั้งก่อนและหลังปรับปรุง

          เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาในการปรับปรุง จะมีการแจ้งนัดหมายของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเข้าตรวจประเมินให้คะแนน ณ อาคาร และสรุปผลคะแนนเพื่อนำเสนอคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประชุมตัดสินอาคารที่จะได้รับตราสัญลักษณ์ระดับที่ 2 พร้อมตัดสินรางวัลในแต่ละประเภท ตามที่ กฟน. กำหนด และจัดงานพิธีประกาศรางวัลและมอบตราสัญลักษณ์ฯ ให้อาคารที่ผ่านเกณฑ์ พร้อมประชาสัมพันธ์เชิดชูเกียรติผลงานของอาคารผ่านสื่อต่างๆ ในปีถัดไป

ประเภทและเกณฑ์การตัดสินรางวัล  ระดับที่ 1

 ประเภท ตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน”

  • พิจารณมอบตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน” ให้สำหรับอาคารที่ผ่านเกณฑ์ MEA Index และเงื่อนไขด้านคุณภาพการใช้พลังงาน ตามที่ กฟน.กำหนด อาคารจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมตราสัญลักษณ์ฯ ระดับที่ 1 ติดตั้งประจำอาคาร

 

ประเภทและเกณฑ์การตัดสินรางวัล  ระดับที่ 2

 ประเภท ตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงานดีเด่น”

  • พิจารณามอบตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงานดีเด่น” ให้อาคารที่ได้รับการประเมินระดับที่ 2 ในแต่ละประเภทอาคาร  โดยอาคารต้องมีผลงานเด่นชัด และได้รับการตรวจเยี่ยมประเมินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณของโครงการ โดยต้องมีคะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนเต็มทั้งหมด จึงมีสิทธิ์รับตราสัญลักษณ์ฯ ระดับที่ 2 อาคารจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมตราสัญลักษณ์ฯ ระดับที่ 2 ติดตั้งประจำอาคาร (ไม่มีเงินรางวัล) 

 ประเภทรางวัลส่งเสริม ตราสัญลักษณ์ “อาคารนวัตกรรมพลังงานดีเด่น” BEST OF INNOVATION AWARD

  • พิจารณามอบรางวัลประเภทส่งเสริม ตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารนวัตกรรมพลังงานดีเด่น” ให้กับอาคารที่มีแนวคิด มีนโยบาย และมีการดำเนินการปรับปรุงการใช้พลังงานที่สอดคล้องในปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมมาตรการในด้านนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยี ด้านพลังงานทดแทน ด้านการบริหารจัดการพลังงานในระบบต่างๆ ตลอดจนสามารถพัฒนาให้เหมาะสมกับอาคารตนเอง และสามารถต่อยอดเป็นอาคารต้นแบบสำหรับอาคารทั่วไปได้ในอนาคต โดยอาคารจะได้รับรางวัลและโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมตราสัญลักษณ์ฯ ติดตั้งประจำอาคาร จำนวน 1 รางวัล มูลค่ารางวัลละ 500,000 บาท 

 ประเภทรางวัลส่งเสริม ตราสัญลักษณ์ “อาคารพัฒนาปรับปรุงด้านพลังงานดีเด่น” BEST OF IMPROVEMENT AWARD

  • พิจารณามอบรางวัลประเภทส่งเสริม ตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารพัฒนาปรับปรุงด้านพลังงานดีเด่น” ให้กับอาคารที่มีการดำเนินการปรับปรุงการใช้พลังงาน โดยมีผลประหยัดพลังงานรวมของอาคารสูงที่สุด  มุ่งเน้นส่งเสริมมาตรการลงทุนในด้านระบบปรับอากาศ ระบบแสงสว่างและระบบอื่นๆ ที่สามารถดำเนินมาตรการปรับปรุงและคิดผลประหยัดรวมทุกมาตรได้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนด โดยอาคารจะได้รับรางวัลและโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมตราสัญลักษณ์ฯ ติดตั้งประจำอาคาร จำนวน 1 รางวัล มูลค่ารางวัลละ 500,000 บาท 

 ประเภท ตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงานดีเลิศ” MEA ENERGY SAVING BUILDING AWARD

  • พิจารณามอบตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงานดีเลิศ” ให้กับอาคารที่ได้ตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงานดีเด่น”  และมีผลงานชัดเจนโดยมีคะแนนรวมสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของแต่ละประเภทอาคาร เพื่อเป็นสุดยอดอาคารประหยัดพลังงานของ กฟน. โดยอาคารจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมตราสัญลักษณ์ฯ ระดับที่ 2 ติดตั้งประจำอาคาร และเงินรางวัล โดยมีรางวัลอาคารระดับดีเลิศ จำนวน 4 รางวัล มูลค่ารวม 4 ล้านบาท ประกอบด้วย 
    • ประเภทอาคารโรงพยาบาล ดีเลิศ จำนวน 1 รางวัล มูลค่ารางวัลละ 1,000,000 บาท
    • ประเภทอาคารโรงแรม ดีเลิศ จำนวน 1 รางวัล มูลค่ารางวัลละ 1,000,000 บาท
    • ประเภทอาคารสำนักงาน ดีเลิศ จำนวน 1 รางวัล มูลค่ารางวัลละ 1,000,000 บาท
    • ประเภทอาคารศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า ดีเลิศ จำนวน 1 รางวัล มูลค่ารางวัลละ 1,000,000 บาท

อาคารที่สนใจเข้าร่วมโครงการ  กรุณากรอกรายละเอียดใบสมัครพร้อมลงนามรับรองข้อมูล และส่งกลับมาให้โครงการภายในระยะเวลาที่เปิดรับสมัคร  โดยมีกำหนดเปิดรับสมัครอาคารปีที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน - 31 ตุลาคม 2559 และรับอาคารจำนวนจำกัด  สามารถขอรับใบสมัครและข้อมูลโครงการจาก

  เอกสารแนบจดหมายเชิญจากโครงการ
  ขอรับและยื่นใบสมัครภายในงานสัมมนาเปิดโครงการ ฯ 
Download ใบสมัครได้ที่ www.meaenergysavingbuilding.net  คลิกที่นี่
  ส่งใบสมัครทางโทรสารที่หมายเลข 02-470-9609 หรือE-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 
 ร่วมติดตามกิจกรรมผ่านเฟสบุ๊คโครงการได้ที่ www.facebook.com/MEAAward หรือ เว็บไซต์ www.meaenergysavingbuilding.net

รับสมัครตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2559
 

เงื่อนไข

1. อาคารที่สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ ต้องมีที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้านครหลวง 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี

2. นิติบุคคล หรือ หน่วยงาน ผู้มีสิทธิ์ส่งอาคารเข้าร่วมการโครงการ ต้องเป็นเจ้าของอาคารหรือเป็นผู้เช่าอาคารหลักที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของอาคาร ซึ่งมีการใช้งานพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ใช้สอยทั้งอาคารที่ส่งประกวด (ไม่นับรวมพื้นที่จอดรถ)

3. ตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน” ทุกประเภท ทางโครงการจะมอบให้เพื่อติดตั้งประจำ ณ อาคารที่ผ่านเกณฑ์ตามที่ กฟน.กำหนด

4. เงินรางวัลในแต่ละประเภทที่มีการจัดประกวด จะมอบให้กับ นิติบุคคล หรือ หน่วยงาน ที่เป็นผู้ส่งอาคารเข้าประกวดเท่านั้น ทั้งนี้หากผู้ที่ส่งอาคารเข้าประกวดมิใช่เจ้าของอาคาร ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของอาคาร

5. ข้อมูลที่นำมาใช้ในการประเมินผลต้องเป็นข้อมูลจริงของทั้งอาคาร โดยอาคารจะต้องกรอกใบสมัครให้ครบถ้วนและลงนามรับรองความถูกต้องของข้อมูล

6. นิติบุคคล หรือ หน่วยงาน สามารถส่งเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 1 ประเภทอาคาร โดยอาคารที่ส่งเข้าร่วมโครงการต้องมีเลขมิเตอร์ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นของการไฟฟ้านครหลวง

7. อาคารที่เคยได้รับตราสัญลักษณ์ กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน ในระดับที่ 1 และ อาคารที่เคยได้รับตราสัญลักษณ์ กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน ดีเด่น และ ดีเด่นพิเศษ ในระดับที่ 2 มาแล้ว สามารถเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ได้ ยกเว้น อาคารที่เคยได้เงินรางวัลและได้รับตราสัญลักษณ์ กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน ดีเลิศ ไม่สามารถเข้าร่วมได้

8. ผลการตัดสินของคณะกรรมการฯ ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด

คุณสมบัติของอาคาร

ประเภทอาคารโรงพยาบาล

นิยาม โรงพยาบาล หมายถึง อาคารหลังเดียว หรือ หลายอาคาร ที่มีพื้นที่ใช้สอยเพื่อการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย รวมถึงกิจกรรมสนับสนุน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งอาคาร (ไม่รวมพื้นที่จอดรถ)
• มีจำนวนเตียงผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 150 เตียง


ประเภทอาคารโรงแรม

นิยาม โรงแรม หมายถึง สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทาง หรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน (อ้างอิงพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 มาตรา 4) ทั้งนี้ไม่รวมถึง
1) สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวซึ่งดำเนินการโดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือเพื่อการกุศลหรือการศึกษาทั้งนี้โดยมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน
2) สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการที่พักอาศัยโดยคิดค่าบริการเป็นรายเดือนขึ้นไปเท่านั้น
3) สถานที่พักอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
4) โรงแรมเพื่อการพักผ่อน (รีสอร์ต) หมายถึง โรงแรมที่มักตั้งอยู่ต่างจังหวัด ในภูมิประเทศที่ดี ห้องพักมักจะแยกเป็นส่วนๆ เป็นบ้านหรือหลังคาเรือนแยกต่างหากในโรงแรมจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การปั่นจักรยาน ขี่ม้า เดินป่า สปา เนื่องจากจุดประสงค์ของแขกที่เข้าพักคือการพักผ่อนเป็นหลัก ระยะเวลาเข้าพักจึงมีระยะเวลาในช่วง 5-7 วัน การบริการจะเป็นแบบสบายๆ เป็นกันเอง (อ้างอิงวิกิพีเดีย)
• เป็นโรงแรมที่จดทะเบียนขอจัดตั้งตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547
• มีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 13,000 ตารางเมตร (ไม่รวมพื้นที่จอดรถ) และต้องมีพื้นที่ที่เป็นห้องพักไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด
• เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวขึ้นไป (ตามมาตรฐานของสมาคมโรงแรมไทย)และไม่รวมถึงโรงแรมประเภทโรงแรมเพื่อการพักผ่อน (รีสอร์ต)
• ต้องมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 100,000 kWh/เดือน


ประเภทอาคารสำนักงาน

นิยาม สำนักงาน หมายถึง อาคารหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่ใช้เป็นสำนักงานหรือที่ทำการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 300 ตารางเมตรขึ้นไป (อ้างอิงสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง)
• อาคารสำนักงานที่เข้าร่วมโครงการต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 8,000 ตารางเมตร (ไม่รวมพื้นที่จอดรถ)
• เป็นอาคารที่มีพฤติกรรมเป็นสำนักงาน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ใช้สอยอาคารที่ส่งประกวด (หมายถึง อาคารเดียวหรือหลายอาคารก็ได้ โดยต้องระบุการใช้พลังงานไฟฟ้าของส่วนอาคารสำนักงานที่ส่งประกวดจากข้อมูลที่เชื่อถือได้)
• ต้องมีค่าไฟฟ้ารวมกันไม่น้อยกว่า 12 ล้านบาท/ปี


ประเภทอาคาร ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า

นิยาม ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า หมายถึง แหล่งรวมสินค้าเพื่อจำหน่าย มีร้านขายสินค้านานาชนิด มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่ผู้มาซื้อสินค้า เช่น ที่จอดรถ ร้านอาหาร (ไม่รวมถึง Community Mall, Hypermarket)
• ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า ที่สมัครเข้าร่วมโครงการต้องส่งอาคารเข้าประกวดทั้งอาคาร ทั้งพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่ผู้เช่า
• ต้องมีค่าไฟฟ้ารวมกันไม่น้อยกว่า 12 ล้านบาท/ปี


อาคารประเภทมหาวิทยาลัย

นิยาม มหาวิทยาลัย หมายถึง สถาบันอุดมศึกษาที่มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาในด้านวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชา หรือหลายกลุ่มสาขาวิชา เพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญา และประกาศนียบัตรบัณฑิตแก่ผู้สำเร็จการศึกษา รวมทั้งดำเนินการวิจัย และให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ
• มหาวิทยาลัยที่สมัครเข้าร่วม ต้องส่งอาคารหรือพื้นที่ตัวแทนเพื่อเข้าประกวด อย่างน้อย 3 ประเภท จาก 4 ประเภท ได้แก่

1) ห้องเรียน
2) สำนักงาน
3) ศูนย์คอมพิวเตอร์
4) ห้องสมุด

• อาคารที่เข้าร่วมประกวด อาจเป็นอาคารเดียว หรือหลายอาคารก็ได้ ในแต่ละอาคารหรือพื้นที่ตัวแทนต้องมีการใช้สอยพื้นที่เพื่อกิจกรรมนั้นๆ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
• พื้นที่ใช้สอยรวมของอาคาร หรือพื้นที่ตัวแทนที่ส่งเข้าประกวด ต้องมีพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 ตารางเมตร
• อาคารที่เข้าร่วมประกวด ต้องอยู่ภายใต้บ้านเลขที่เดียวกัน
• ต้องสามารถระบุการใช้พลังงานไฟฟ้าของอาคารหรือพื้นที่อาคาร ที่เข้าร่วมโครงการ โดยข้อมูลนั้นต้องเชื่อถือได้

อาคารประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต

ไฮเปอร์มาร์เก็ต ต้องมีพื้นที่ที่ใช้เพื่อการค้าปลีก ค้าส่ง รวมถึงส่วนกิจกรรมสนับสนุน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งอาคาร (ไม่รวมพื้นที่จอดรถ)
• ผู้เข้าร่วมการประกวดต้องเป็นเจ้าของอาคารหรือเป็นผู้ที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของอาคาร และต้องมีพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งอาคาร (ไม่รวมพื้นที่จอดรถ)
• อาคารจะต้องกรอกใบสมัครขั้นต้นและลงนามโดยหัวหน้างานหรือผู้จัดการ และเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วอาคารต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติมและลงนามรับรองความถูกต้องของข้อมูล
• ข้อมูลที่นำมาใช้ในการประเมินผลต้องเป็นข้อมูลของทั้งอาคาร

หมายเหตุ Hypermarket is a very large commercial establishment that is combination of a department store and a supermarket such as Big C, Tesco Lotus, Jusco, Makro, Max Value etc.