การประกวดอาคาร MEA Energy Saving Building จะดำเนินการรับสมัครอาคารกลุ่มเป้าหมายตามที่ กฟน. กำหนดในแต่ละปี โดยอาคารที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตามประเภทอาคารที่จัดประกวด  หลังจากนั้น ทางโครงการฯ จะกลั่นกรองข้อมูลตรวจสอบความถูกต้องของใบสมัครและแจ้งให้อาคารทราบเพื่อดำเนินนัดหมายต่อไป  
 
          ข้อมูลสำคัญ คือ การคำนวณค่า MEA Index ซึ่งจะนำข้อมูลจากใบสมัครมาคิดคำนวณ MEA Index ในเบื้องต้น และเข้าตรวจวัดค่าตามเกณฑ์คุณภาพการใช้พลังงานพร้อมทวนสอบข้อมูลระหว่างใบสมัครกับหน้างานจริง จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดและทวนสอบมาคำนวณ MEA Index อีกครั้ง เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้พิจารณาตัดสิน เมื่ออาคารได้รับการพิจารณาให้ผ่านเกณฑ์ MEA Index อาคารจะได้รับตรา
สัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน” ในระดับที่ 1 และมีสิทธิ์เข้าแข่งต่อในระดับที่ 2 ได้ ทางโครงการจะดำเนินการแข่งขันต่อเนื่องในระดับที่ 2 เพื่อขอรับตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน ดีเด่น” และลุ้นเป็นสุดยอดอาคารประหยัดพลังงานของการไฟฟ้านครหลวงในแต่ละประเภทรางวัล

         ทุกประเภทอาคารที่เข้าร่วมการแข่งขันในระดับที่ 2 ต้องระบุประเภทรางวัลที่ต้องการส่งอาคารเข้าร่วมแข่งขันให้ทางโครงการทราบ ซึ่งประกอบด้วย

          ประเภทรางวัล ตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงานดีเลิศ” อาคารที่สามารถเข้าร่วมได้ มี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มอาคารประเภท 1) โรงพยาบาล 2) โรงแรม 3) สำนักงาน 4) ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า

          สำหรับ ประเภทรางวัลส่งเสริม ตราสัญลักษณ์ “อาคารนวัตกรรมพลังงานดีเด่น” (BEST OF INNOVATION AWARD) และประเภทรางวัลส่งเสริม ตราสัญลักษณ์ “อาคารพัฒนาปรับปรุงด้านพลังงานดีเด่น” (BEST OF IMPROVEMENT AWARD) อาคารที่สามารถเข้าร่วมได้ มี 6 กลุ่ม คือ กลุ่มอาคารประเภท 1) โรงพยาบาล 2) โรงแรม 3) สำนักงาน 4) ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า 5) ไฮเปอร์มาร์เก็ต 6) มหาวิทยาลัย

         โดยอาคารที่มีความประสงค์เข้าร่วมการแข่งขันในระดับที่ 2 ต้องจัดทำข้อตกลงวิธีการตรวจวัดและพิสูจน์ผลการใช้พลังงาน (M&V) ส่งให้โครงการพิจารณาอนุมัติภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยโครงการฯ จะชี้แจงทำความเข้าใจถึงวิธีการตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัดที่ยอมรับได้และเป็นตามหลักวิศวกรรมกับทางอาคาร เมื่อวิธีการตรวจวัดและพิสูจน์ผลการใช้พลังงาน (M&V) ได้รับการอนุมัติแล้ว อาคารจึงสามารถเริ่มดำเนินการตามมาตรการที่เสนอมาได้ และต้องแจ้งให้ทางโครงการเข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจวัดการใช้พลังงาน ทั้งก่อนและหลังปรับปรุง

          เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาในการปรับปรุง จะมีการแจ้งนัดหมายของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเข้าตรวจประเมินให้คะแนน ณ อาคาร และสรุปผลคะแนนเพื่อนำเสนอคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประชุมตัดสินอาคารที่จะได้รับตราสัญลักษณ์ระดับที่ 2 พร้อมตัดสินรางวัลในแต่ละประเภท ตามที่ กฟน. กำหนด และจัดงานพิธีประกาศรางวัลและมอบตราสัญลักษณ์ฯ ให้อาคารที่ผ่านเกณฑ์ พร้อมประชาสัมพันธ์เชิดชูเกียรติผลงานของอาคารผ่านสื่อต่างๆ ในปีถัดไป