ระดับที่ 1 ตราสัญลักษณ์การอนุรักษ์พลังงาน “กฟน.อาคารประหยัดพลังงาน”

เพื่อเชิดชูอาคารที่ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยอาคารจะต้องผ่านเกณฑ์ตามที่ กฟน. กำหนด ซึ่งพิจารณาตัดสินจากเงื่อนไขด้านการใช้พลังงาน (MEA Index) และเงื่อนไขด้านคุณภาพการใช้พลังงาน

เกณฑ์การตัดสิน

1. เงื่อนไขด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า พิจารณาจากค่า MEA Index ไม่เกินค่าเกณฑ์ที่ กฟน. กำหนด โดยประเมินจากข้อมูลการใช้พลังงานของแต่ละอาคารตามประเภทอาคารและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อหากราฟการแจกแจงของอาคารประเภทนั้นๆ เทียบกับอาคารอื่นในกลุ่มเดียวกัน

2. เงื่อนไขด้านคุณภาพการใช้พลังงาน แม้อาคารจะมีค่า MEA Index ผ่านเกณฑ์ที่ กฟน. กำหนดแล้วก็ควรต้องมีการใช้พลังงานที่มีคุณภาพที่ดีต่อผู้ใช้งานด้วย ได้แก่ มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอาคารไม่เกินค่ามาตรฐาน มีค่าความส่องสว่างในแต่ละพื้นที่หรือกิจกรรมเพียงพอต่อการใช้งาน มีอุณหภูมิและความชื้นที่อยู่ในสภาวะสบาย โดยโครงการจะตรวจวัดค่าด้านคุณภาพการใช้พลังงาน ณ อาคารจริง เพื่อนำมาประกอบการตัดสิน

 

ระดับที่ 2 ตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงาน”ดีเด่น

  

 

 

 

 

 

 ตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงานดีเด่น”

เพื่อเชิดชูอาคารที่ดำเนินการปรับปรุงการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เกิดผลประหยัดขึ้นจริงในช่วงระยะเวลาที่โครงการกำหนด โดยพิจารณาตัดสินจากคะแนรวมของ 4 ปัจจัย ได้แก่ ผลการปรับปรุง ความน่าสนใจของมาตรการที่ดำเนินการ การมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์กรและความตั้งใจของคณะทำงานและฝ่ายบริหาร

ตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงานดีเด่นพิเศษ”

มอบให้อาคารที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณามอบตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงานดีเด่น” แล้ว และอาคารมีผลงานชัดเจนและมีคะแนนรวมดีเด่นเป็นอันดับที่ 2 ของแต่ละประเภทอาคาร จะได้รับตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงานดีเด่นพิเศษ” พร้อมเงินรางวัล 500,000 บาท
ตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงานดีเลิศ”
มอบให้อาคารที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณามอบตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงานดีเด่น” แล้ว และอาคารมีผลงานชัดเจนและมีคะแนนรวมดีเด่นเป็นอันดับที่ 1 ของแต่ละประเภทอาคาร จะได้รับตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงานดีเลิศ” พร้อมเงินรางวัล 2,000,000 บาท

เกณฑ์การตัดสิน

  1. ต้องเป็นอาคารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ “กฟน.อาคารประหยัดพลังงาน” ระดับที่ 1 มาแล้วเท่านั้น
  2. อาคารต้องดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดผลประหยัดจริงและสามารถตรวจวัดได้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่โครงการกำหนด
  3. คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของโครงการเป็นผู้เข้าประเมิน ณ อาคารจริง เพื่อให้คะแนนและตัดสินผลงานโดยพิจารณาจาก 4 ปัจจัย ดังนี้

1) ผลการปรับปรุง ให้น้ำหนักคะแนน 30%

2) ความน่าสนใจของมาตรการที่ดำเนินการ ให้น้ำหนักคะแนน 20%

3) การมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์กร ให้น้ำหนักคะแนน 25%

4) ความตั้งใจของคณะทำงานและฝ่ายบริหาร ให้น้ำหนักคะแนน 25%